อย่ากล่าวเรื่องทุ่มเถียงแก่งแย่งกัน แต่จงกล่าวเรื่องความพ้นทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธออย่ากล่าวถ้อยคำที่ยึดถือเอาแตกต่างกัน ว่า
"ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้, ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้,
ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยได้อย่างไร
ท่านปฏิบัติผิด, ข้าพเจ้าซิปฏิบัติชอบ,
คำควรกล่าวก่อน ท่านกล่าวทีหลัง
คำควรกล่าวทีหลัง ท่านมากล่าวก่อน
คำพูดของท่านจึงไม่เป็นประโยชน์ คำพูดของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์
ข้อที่ท่านเคยถนัด มาแปรปรวนไปเสียแล้ว.
ข้าพเจ้าแย้งคำพูดของท่านแหลกหมดแล้ว,
ท่านถูกข้าพเจ้าข่มแล้ว เพื่อให้ถอนคำพูดผิด ๆ นั้นเสีย
หรือท่านสามารถก็จงค้านมาเถิด:" ดังนี้.

พวกเธอไม่พึงกล่าวถ้อยคำเช่นนั้นเพราะเหตุไรเล่า?
เพราะการกล่าวนั้น ๆ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ไม่เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์
ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน.

ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อพวกเธอจะกล่าว จงกล่าวว่า

"เช่นนี้ ๆ เป็นความทุกข์,
เช่นนี้ ๆ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์,
เช่นนี้ ๆ เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์,
และเช่นนี้ ๆ เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์;" ดังนี้.

เพราะเหตุไรจึงควรกล่าวเล่า ?
เพราะการกล่าวนั้น ๆ ย่อมประกอบด้วยประโยชน์
เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์
ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน.

ภิกษุทั้งหลาย! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียร
เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า
"นี้เป็นทุกข์,
นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์,
นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์,
นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์," ดังนี้เถิด

- มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๒๕/๑๖๖๒.