การฟังอริยสัจ เหมาะสำหรับจิตที่ฟอกแล้วเท่านั้น

ภิกษุทั้งหลาย! ครั้งนั้นแล มหาชนชาวพันธุมดีราชธานี จำนวนแปดหมื่นสี่พันคน
ออกจากเมือง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาควิปัสสีถึงที่ประทับ ณ เขมมิคทายวัน
ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ข้างหนึ่ง.

พระผู้มีพระภาควิปัสสี ได้ตรัส อนุปุพพิกถา แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น กล่าวคือ
ทานกถา  สีลกถา  สัคคกถา

ทรงประกาศ โทษอันเศร้าหมองต่ำทรามของกามทั้งหลาย และ
อานิสงส์ในการออกจากกาม.
ครั้นทรงทราบว่าชนเหล่านั้นมีจิตเหมาะสม อ่อนโยน ปราศจากนิวรณ์
ร่าเริง แจ่มใส แล้ว, ก็ได้ตรัส ธรรมเทศนาซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ทรงยกขึ้นแสดงเอง กล่าวคือ
  เรื่องทุกข์
  เรื่องสมุทัย
  เรื่องนิโรธ
  และ เรื่องมรรค.

เปรียบเสมือนผ้าอันสะอาด ปราศจากสิ่งแปดเปื้อน
ย่อมรับเอาซึ่งน้ำย้อมได้อย่างดี ฉันใด;
ธรรมจักษุ ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน
ได้เกิดขึ้นแก่มหาชน แปดหมื่นสี่พันเหล่านั้น ณ ที่นั่งนั้นเองว่า
"สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา" ดังนี้,
ฉันนั้นเหมือนกัน.

ชนเหล่านั้นมีธรรมอันเห็นแล้ว บรรลุแล้ว รู้แจ้งแล้ว หยั่งเอาได้ครบถ้วนแล้ว
หมดความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความกล้าหาญ
ไม่ต้องเชื่อตามบุคคลอื่นในคำสอนแห่งศาสดาตน
ได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาควิปัสสีว่า
"ไพเราะนัก พระเจ้าข้า !
ไพเราะนัก พระเจ้าข้า !
เปรียบเหมือนการหงายของที่คว่ำอยู่ เปิดของที่ปิดอยู่ บอกทางให้แก่คนหลงทาง
หรือว่าจุดประทีปไว้ในที่มืดเพื่อว่าคนมีตาจักได้เห็นรูป, ฉันใดก็ฉันนั้น" ดังนี้.

- มหา. ที. ๑๐/๔๙/๔๙.