อย่ากล่าวเรื่องไม่มีประโยชน์ แต่จงกล่าวเรื่องความพ้นทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอทั้งหลาย จง อย่ามัวสนทนาเรื่องขวางหนทางธรรม
(ติรจฺฉานกถา) คือเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องอมาตย์ เรื่องทหาร
เรื่องของน่ากลัว เรื่องการรบพุ่ง เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน
เรื่องระเบียบดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยานพาหนะ
เรื่องหมู่บ้าน เรื่องจังหวัด เรื่องเมืองหลวง เรื่องบ้านนอก เรื่องหญิง เรื่องชาย
เรื่องคนกล้า เรื่องตรอกทางเดิน เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ตายไปแล้ว
เรื่องต่าง ๆ นานา เรื่องโลก เรื่องมหาสมุทร เรื่องความรุ่งเรือง
เรื่องความทรุดโทรม เหล่านี้. เพราะเหตุไรจึงไม่ควรกล่าวเล่า ?

เพราะการกล่าวนั้น ๆ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ไม่เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์
ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ
ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน เลย.

ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อพวกเธอจะกล่าว จงกล่าวว่า

"เช่นนี้ ๆ เป็นทุกข์,
เช่นนี้ ๆ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์,
เช่นนี้ ๆ เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์,
และเช่นนี้ ๆ เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์;" ดังนี้

เพราะเหตุไรจึงควรกล่าวเล่า? เพราะการกล่าวนั้นๆย่อมประกอบด้วยประโยชน์
เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์
เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ
ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน.
ภิกษุทั้งหลาย! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียร
เพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า

"นี้เป็นทุกข์,
นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์,
นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์,
นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์" ดังนี้เถิด

- มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๒๖/๑๖๖๓.

อย่ากล่าวเรื่องทุ่มเถียงแก่งแย่งกัน แต่จงกล่าวเรื่องความพ้นทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธออย่ากล่าวถ้อยคำที่ยึดถือเอาแตกต่างกัน ว่า
"ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้, ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้,
ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยได้อย่างไร
ท่านปฏิบัติผิด, ข้าพเจ้าซิปฏิบัติชอบ,
คำควรกล่าวก่อน ท่านกล่าวทีหลัง
คำควรกล่าวทีหลัง ท่านมากล่าวก่อน
คำพูดของท่านจึงไม่เป็นประโยชน์ คำพูดของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์
ข้อที่ท่านเคยถนัด มาแปรปรวนไปเสียแล้ว.
ข้าพเจ้าแย้งคำพูดของท่านแหลกหมดแล้ว,
ท่านถูกข้าพเจ้าข่มแล้ว เพื่อให้ถอนคำพูดผิด ๆ นั้นเสีย
หรือท่านสามารถก็จงค้านมาเถิด:" ดังนี้.

พวกเธอไม่พึงกล่าวถ้อยคำเช่นนั้นเพราะเหตุไรเล่า?
เพราะการกล่าวนั้น ๆ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ไม่เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์
ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน.

ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อพวกเธอจะกล่าว จงกล่าวว่า

"เช่นนี้ ๆ เป็นความทุกข์,
เช่นนี้ ๆ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์,
เช่นนี้ ๆ เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์,
และเช่นนี้ ๆ เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์;" ดังนี้.

เพราะเหตุไรจึงควรกล่าวเล่า ?
เพราะการกล่าวนั้น ๆ ย่อมประกอบด้วยประโยชน์
เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์
ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน.

ภิกษุทั้งหลาย! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียร
เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า
"นี้เป็นทุกข์,
นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์,
นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์,
นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์," ดังนี้เถิด

- มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๒๕/๑๖๖๒.

อย่าคิดเรื่องโลก แต่จงคิดเรื่องอริยสัจ

ภิกษุทั้งหลาย! มีเรื่องราวในกาลก่อน : บุรุษผู้หนึ่งตั้งใจว่าจะคิด
ซึ่งความคิดเรื่องโลก,จึงออกจากนครราชคฤห์ ไปสู่สระบัวชื่อ สุมาคธา
แล้วนั่งคิดอยู่ที่ริมฝั่งสระ. บุรุษนั้นได้เห็นแล้ว ซึ่งหมู่เสนาประกอบด้วยองค์สี่
(คือ ช้าง ม้า รถ พลเดินเท้า) ที่ฝั่งสระสุมาคธานั้น เข้าไปอยู่ ๆ สู่เหง้ารากบัว
ครั้นเขาเห็นแล้วเกิดความไม่เชื่อตัวเองว่า
"เรานี้บ้าแล้ว เรานี้วิกลจริตแล้ว, สิ่งใดไม่มีในโลก เราได้เห็นสิ่งนั้นแล้ว" ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย! บุรุษนั้นกลับเข้าไปสู่นครแล้ว ป่าวร้องแก่มหาชน ว่า
"ท่านผู้เจริญ ! ข้าพเจ้าเป็นบ้าแล้ว ข้าพเจ้าวิกลจริตแล้ว,
เพราะว่าสิ่งใดไม่มีอยู่ในโลก ข้าพเจ้ามาเห็นแล้วซึ่งสิ่งนั้น" ดังนี้.
มีเสียงถามว่า เห็นอะไรมา ?
เขาบอกแล้วตามที่เห็นทุกประการ.
มีเสียงรับรองว่า "ถูกแล้ว, ท่านผู้เจริญเอ๋ย ! ท่านเป็นบ้าแล้ว ท่านวิกลจริตแล้ว"

ภิกษุทั้งหลาย! แต่ว่าบุรุษนั้น ได้เห็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริง
หาใช่เห็นสิ่งไม่มีจริง ไม่เป็นจริงไม่.

ภิกษุทั้งหลาย! ในกาลก่อนดึกดำบรรพ์ : สงครามระหว่างพวกเทพกับอสูร
ได้ตั้งประชิดกันแล้ว. ในสงครามครั้งนั้น พวกเทพเป็นฝ่ายชนะ อสูรเป็นฝ่ายแพ้
พวกอสูรกลัว แล้วแอบหนีไปสู่ภพแห่งอสูรโดยผ่านทางเหง้ารากบัว
หลอกพวกเทพให้หลงค้นอยู่. (เรื่องของโลกย่อมพิสดารไม่สิ้นสุดถึงเพียงนี้)

ภิกษุทั้งหลาย! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงอย่าคิดเรื่องโลก
โดยนัยว่า
"โลกเที่ยงหรือ ?
โลกไม่เที่ยงหรือ ?
โลกมีที่สุดหรือ ?
โลกไม่มีที่สุดหรือ ?
ชีพก็ดวงนั้น ร่างกายก็ร่างนั้นหรือ ?
ชีพก็ดวงอื่น ร่างกายก็ร่างอื่นหรือ ?
ตถาคตตายแล้วย่อมเป็นอย่างที่เป็นมาแล้วนั้น อีกหรือ ?
ตถาคตตายไปแล้ว ไม่เป็นอย่างที่เป็นมาแล้วนั้น อีกหรือ ?
ตถาคตตายไปแล้ว เป็นอย่างที่เป็นมาแล้วอีกก็มี ไม่เป็นก็มี หรือ ?
ตถาคตตายไปแล้ว เป็นอย่างที่เป็นมาแล้วอีกก็ไม่เชิง ไม่เป็นก็ไม่เชิง หรือ ?"
เพราะเหตุไรจึงไม่ควรคิดเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย!เพราะความคิดนั้น ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ไม่เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์
ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ
ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน เลย.

ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อพวกเธอจะคิด จงคิดว่า
"เช่นนี้ ๆ เป็นทุกข์,
เช่นนี้ ๆ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์,
เช่นนี้ ๆ เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์,
และเช่นนี้ ๆ เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์:" ดังนี้
เพราะเหตุไรจึงควรคิดเล่า ? เพราะความคิดนี้ ย่อมประกอบด้วยประโยชน์
เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์
เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ
ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน.

ภิกษุทั้งหลาย! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียร
เพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า
"นี้เป็นทุกข์,
นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์,
นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์,
นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์" ดังนี้เถิด.
- มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๘ - ๕๕๙/๑๗๒๕ - ๑๗๒๗.